วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) โดยถูกกำหนดให้จัดตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของ “หลุยส์ ปาสเตอร์” ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับฉีดให้คนที่ถูกสุนัขบ้ากัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้าและร่วมมือร่วมใจป้องกันโรคนี้ด้วยการให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดคือ “สุนัข” มนุษย์ติดเชื้อนี้จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพาสุนัขบ้า ดังนั้น ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้มักจะเสียชีวิตทั้งหมด แต่เรามีวัคซีนที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้ (Preventable disease) เพียงแค่นำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์จรจัดมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นวิธีการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด
องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ตั้งเป้าหมายว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะหมดไปจากโลกในปี 2563 (2020) World rabies day จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ทั่วโลกเร่งรัดการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศ และจากโลก
สำหรับประเทศไทยก็มีการจัดกิจกรรมวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2550 ด้วยการร่วมมือกันจากหลายหน่วยงาน โดยในปี 2557 นี้ มีคำขวัญรณรงค์คือ “ร่วมแรง ร่วมใจ ประเทศไทยปลอดโรค พิษสุนัขบ้า”
สำนักโรคติดต่อทั่วไปได้แนะนำข้อควรปฏิบัติในการลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้ายโดยปฏิบัติตนตามคำแนะนำ 5 ย. คือ
1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ
2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ
3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร
5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
กรณีหากถูกสุนัขบ้านหรือถูกสุนัขจรจัด แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน เพื่อช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้เร็วที่สุดเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบตามที่แพทย์แนะนำ หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีอาการ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันจับโดยระมัดระวังอย่าให้ถูกกัด แล้วกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ควรนำสัตว์เลี้ยงทุกตัวไปทำการฉีดวัคซีนตามร้าน หรือศูนย์บริการใกล้บ้านให้ตรงตามกำหนดทุกครั้ง ไม่ต้องรอให้ถึงโอกาสสำคัญ หรือวันรณรงค์ถึงค่อยไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในบริเวณที่อยู่อาศัยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก :: กลุ่มสื่อสารสาธารณะและภาคีเครือข่าย สำนักโรคติดต่อทั่วไป, ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ, กรมปศุสัตว์, rabiesalliance.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น